เกษตรเพิ่มผลผลิตพริก

ได้ผลกว่าที่คิด ชาวสวนพลิกตำรา เพิ่มผลผลิตพริกด้วยการ “เหยียบต้น”??

ความจริงแล้ว การปลูกพริก ดูเป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไป อาจเป็นเพราะพืชชนิดนี้ปลูกและเจริญเติบโตได้ง่ายในดินเกือบทุกชนิด แม้จะชอบดินร่วนปนทรายมากที่สุดก็ตาม/ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยาการปลูกพริกของแต่ละรายมีความตั้งใจต่างกัน บางคนปลูกไว้ข้างบ้านเก็บเม็ดพริกทำอาหาร แม่ค้าขายอาหารโยนเม็ดพริกที่เน่าไว้ข้างร้าน ไม่นานพริกโตขึ้นยังเก็บมาใช้ประโยชน์กับอาชีพตัวเอง หรือบางรายตั้งใจปลูกจริงเพื่อเป็นการค้า อาจปลูกมากบ้าง น้อยบ้าง คงแล้วแต่งบประมาณที่มี ฉะนั้นพริกจึงมีคุณค่าและเกิดประโยชน์ได้กับทุกคน

โดยปกติแล้วการเพิ่มผลผลิตพริกอาจต้องมีขั้นตอน วิธีการตามแบบแผนสักเล็กน้อย อาทิ ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปรับหน้าดินให้ละเอียดและเรียบ ใช้แกลบหรือฟางข้าวบางๆ กลบหน้าดินให้เข้ากัน เพื่อเป็นการบำรุงต้นให้มีความสมบูรณ์รองรับกับผลผลิตที่จะมีขึ้น

แต่เจ้าของสวนที่ชัยนาท กลับพลิกตำรา และเปลี่ยนมาใช้วิธีเพิ่มผลผลิต ด้วยการ “เหยียบต้นพริก”??

เทคโนฯ เล่มนี้ จะชวนท่านผู้อ่านไปดูชาวบ้านปลูกพริกแซมในสวนส้มโอ ที่ชัยนาท โดยเจ้าของมีความชอบพริกเป็นการส่วนตัว เลยไปหามาพร้อมกับตั้งใจปลูกเพื่อเก็บไว้ใช้ในครัวเรือน ต่อมาภายหลังมีผู้คนเดินเหยียบย่ำต้นพริกที่ปลูก ปรากฏว่าต้นพริกไม่ตาย กลับมียอดใหม่แตกขึ้นมาแล้วให้ผลผลิตดกมากขึ้นกว่าเดิมอีก มีจำนวนเม็ดพริกเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหลายเท่า จากนั้นมาจึงทำเช่นนี้กับพริกที่เหลือ ทำให้เจ้าของสวนต้องเร่งเก็บผลผลิตไปส่งขายตามตลาดสดและร้านอาหาร สร้างรายได้อย่างงดงาม ด้วยเหตุผลนี้ถ้าจะเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่าเป็นการปลูกพริกแบบเหยียบต้นคงจะไม่ว่ากัน
คุณธนทัต ปัญญาดิลก มีชื่อเล่นว่า คุณส้มผิว และ คุณบำรุง ปัญญาดิลก หรือ คุณเบิ้ม ทั้งสองคนเป็นเจ้าของสวนส้มโอ อยู่ที่ตำบลนางลือ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ที่มีชื่อว่า “สวนส้มโอตาเบิ้มขนส่ง” เหตุที่ต้องมี คำว่า ขนส่ง ห้อยท้าย เพราะทั้งสองมีงานเป็นหลักแหล่งอยู่ที่ขนส่งชัยนาท ฉะนั้นการทำสวนส้มโอจึงเป็นรายได้อีกทางที่ทั้งสองคนพึงต้องทำ

สวนส้มโอตาเบิ้ม ปลูกส้มโอขายมานานกว่า 14 ปี ในเนื้อที่ 10 ไร่ มีจำนวน 400 กว่าต้น คุณส้มผิวบอกเหตุผลที่ส้มโอขาวแตงกวามีรสชาติอร่อยว่า เพราะเกิดจากการดูแลบริหารจัดการสวน ที่สำคัญคือการใช้ปุ๋ยหมักแทนปุ๋ยเคมี จนทำให้ได้ความหวานถึง 11.5 บริกซ์ และด้วยความมีคุณภาพของส้มโอสวนนี้ จึงทำให้ได้รับการรับรองเป็นสวนแบบ GAP และ GI

ภายในสวนส้มโอมีการปลูกมะนาวพันธุ์แป้นพิจิตร จำนวน 100 กว่าต้น พริกขี้หนู ตลอดจนพืชสวนครัวหลายชนิดไว้ในลักษณะผสมผสาน แต่ที่น่าสนใจคือ ต้นพริกที่มีขนาดกอใหญ่มาก สอบถาม คุณพยนต์ หรือ ลุงดำ ผู้ดูแลสวนแห่งนี้มานาน ทราบว่าเป็นพริกขี้หนูที่มีชื่อว่า แกว และที่เห็นว่ามีขนาดกอพริกใหญ่เช่นนี้เพราะต้อง…เหยียบกิ่ง

ระหว่างสนทนาลุงดำเก็บเม็ดพริกสีแดงสดเม็ดสวยมาให้ดูจำนวนหนึ่งแล้วบอกว่าคราวที่ปลูกพริกไว้ยังไม่ได้คิดอะไรครั้นพอเกิดน้ำท่วมขึ้นชาวบ้านจึงต้องใช้เส้นทางที่ปลูกพริกนี้สัญจรเพื่อหลบน้ำคนเดินบ้าง สุนัขเดินบ้าง ได้เหยียบย่ำต้นไม้หลายชนิด รวมถึงต้นพริกที่ปลูกไว้ด้วย

“พอสังเกตเห็นว่า ทำไม ต้นพริกที่ถูกเหยียบกลับไม่ตาย แล้วยังมียอดแตกใหม่จำนวนมากโผล่ขึ้นมาตั้งตรงได้อีก พอปล่อยไว้จะมีดอกออกผลได้ทันที จนทำให้พริกต้นนั้นเจริญเติบโตเป็นทรงพุ่มที่ออกเม็ดพริกทั่วทั้งต้น แล้วลองเทียบต้นพริกข้างเคียงที่ไม่ได้เหยียบว่า ต้นจะโตสูงขึ้นเพียงต้นเดียวในแนวตรงเท่านั้น แล้วผลผลิตก็ไม่ได้ดกอย่างนี้”
ลุงดำ เผยถึงเทคนิคและวิธีการเหยียบกิ่งพริกว่า ควรเลือกต้นที่ปลูกมาแล้ว มีอายุราว 3 เดือน และควรเหยียบในช่วงหน้าฝน เพราะดินจะชุ่มน้ำ จึงไม่ทำให้กิ่งหักง่าย หรือมิเช่นนั้นก็อาจใช้วิธีรดน้ำให้ดินบริเวณโคนกอมีความชุ่มมากและค่อยเหยียบ โดยให้เหยียบกิ่งในลักษณะค่อยๆ โน้มลงในแนวระนาบกับพื้นดิน


“โดยธรรมชาติของไม้แล้ว กิ่งที่ถูกโน้มลงจะหยุดการเจริญเติบโต จากนั้นจะเริ่มมีกิ่งใหม่แตกออกมาในลักษณะตั้งตรง แต่กิ่งเดิมจะไม่ตาย เพราะยังมีน้ำ อาหารหล่อเลี้ยงอยู่ การทำวิธีนี้จะเหยียบทุกกิ่ง ดังนั้น พอกิ่งใหม่โตขึ้นจำนวนหลายกิ่งจะทำให้เกิดเป็นกอพริกขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะมีเม็ดพริกจำนวนมากด้วย”

ส่วนการดูแลพริกให้สมบูรณ์เช่นนี้มีวิธีการอย่างไรนั้น ลุงดำ เผยว่า ไม่ต้องดูแลใส่ปุ๋ยอะไรเลย ปลูกแบบปล่อยตามธรรมชาติ เพราะพริกจะได้รับปุ๋ยและอาหารอื่นจากส้มโอ ซึ่งเป็นปุ๋ยทางธรรมชาติที่ทำไว้ใช้เอง แต่สำหรับต้นที่โทรมเป็นเพราะเกิดจากเชื้อรา อันเนื่องมาจากที่มีฝนตกหนัก อย่างไรก็ตาม ต้นพริกที่ปลูกไว้จะปล่อยไปจนมีอายุราว 3 ปี จากนั้นค่อยตัดทำสาว

คุณส้มผิว ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ที่ปลูกอยู่เป็นพริกขี้หนูทั้ง 2 ชนิด อย่างแรกชื่อ พริกแกวโม่ง และพริกแกวขี้หนู ที่มีเม็ดเล็กกว่าแกวโม่ง ขายดีมาก แม้พริกแกวโม่งราคาถูกกว่า แต่เก็บได้จำนวนมากกว่า แล้วจะเริ่มเหยียบภายหลังพริกออกเม็ดหนึ่งรุ่นแล้ว และควรทำช่วงหน้าฝนจะดีที่สุด หรือมิเช่นนั้นต้องรดน้ำให้ดินชุ่มน้ำมากบริเวณโคนกอที่จะเหยียบหรือโน้มกิ่ง ที่สำคัญอย่าให้ดินแห้งเด็ดขาด หลังจากเหยียบกิ่งพริกแล้วราว 20-30 วัน กิ่งใหม่จะเริ่มแตกยอดพร้อมกับมีดอกทันที

เจ้าของสวนเผยถึงการเก็บเม็ดพริกว่า แต่ละครั้งเก็บได้ต้นละกิโลกว่า นำไปขายส่งที่ตลาดสดอาทิตย์ละกว่า 10 กิโลกรัม ราคาขายส่ง ถ้าเป็น แกวขี้หนู ส่งขายราคา กิโลกรัมละ 150 บาท ส่วน แกวโม่ง ส่งขายราคา กิโลกรัมละ 120 บาท ทั้งนี้มีรายได้จากพริกตกเดือนละไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 บาท ถ้าช่วงไหนตลาดสดต้องการน้อยลงและราคาไม่ดี ก็จะเก็บตากแห้ง ทำเป็นพริกป่นส่งร้านก๋วยเตี๋ยว

คุณส้มผิว ชี้ว่าพริกมีราคาดีช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ทั้งนี้เพราะเป็นช่วงที่พริกขาดแคลนตลาด เนื่องจากแล้งจัด ยิ่งราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม อากาศร้อนมาก เม็ดพริกจะแห้งตายหมด พร้อมทั้งแนะว่าไม่ควรปลูกพริกกลางแจ้ง แต่พริกที่สวนปลูกอยู่ในร่มแบบมีแดดรำไรจึงมีผลผลิตตลอดเวลา
ทางด้านการดูแลพริก คุณสมผิว บอกว่า ปุ๋ยพริกไม่ได้ใส่เลย จะไม่เน้นหรือให้ความสำคัญนัก เพราะอยู่ในสวนส้มโออยู่แล้ว และคิดว่าปลูกพริกเพื่อเป็นรายได้เสริมเท่านั้น แต่พริกจะได้ประโยชน์จากการหว่านปุ๋ยอินทรีย์ในสวนส้มโอไปทั่วแปลง

เธอชี้ว่า การที่พืชผลในสวนมีความเจริญงอกงามดีนั้น เป็นผลมาจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้ผสมไว้ใช้เอง จากส่วนผสมปุ๋ยหมักอันได้แก่ รำละเอียด จมูกข้าว แกลบที่หมักไว้เป็นเวลา 1 ปี ขี้วัว ขี้ค้างคาว ผักปลอดสารแห้ง แล้วนำมาคลุกเคล้ากัน โดยจะหว่านใส่ในแปลงช่วงปลายปี ในปริมาณ 1 ตัน ซึ่งมีอัตราส่วนดังนี้ จมูกข้าว และรำละเอียด อย่างละ 300 กิโลกรัม, แกลบที่หมักไว้แล้ว 1 ปี จำนวน 500 กิโลกรัม, ขี้วัว จำนวน 10 กระสอบ, ขี้ค้างคาว จำนวน 10 กระสอบ
นอกจากนั้น ใช้ EM จำนวน 3 แก้ว, กากน้ำตาล จำนวน 3 กิโลกรัม, ปุ๋ยหมักจากเศษอาหารและเศษปลา แล้วให้นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันบนลาน จากนั้นใช้เครื่องบดน้ำแข็งปั่นให้ละเอียด แล้วบรรจุใส่ถุงปุ๋ย เก็บไว้สัก 1 เดือน

สนใจสอบถามข้อมูลรายละเอียดการปลูกพริกแบบเหยียบ หรือต้องการหาซื้อผลผลิตส้มโอ กิ่งพันธุ์ส้มโอ กิ่งพันธุ์มะนาวแป้นพิจิตร ติดต่อโดยตรงได้ที่ คุณธนทัต ปัญญาดิลก (คุณส้มผิว) โทรศัพท์ (081) 886-5977 หรือ คุณบำรุง ปัญญาดิลก (คุณเบิ้ม) โทรศัพท์ (081) 037-4310

ที่มา : sharesanun

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *