“มาดามเดียร์” ชี้ ปชป.ละทิ้งอุดมการณ์ ไปร่วมรัฐบาล ขอยืนหยัดฟื้นศรัทธาพรรค
30 ส.ค.67 น.ส.วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้มาเปิดใจให้สัมภาษณ์กับสื่อเครือเนชั่น กรุ๊ป หลังจากเมื่อคืนวันที่ 29ส.ค.67 มติกรรมการบริหารพรรค และ สส.พรรคปชปช.ได้ แถลงการณ์ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนนเสียง 43 ต่อ 4
โดย มาดามเดียร์ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ที่”พรรคประชาธิปัตย์” ไปร่วมรัฐบาลกับ”พรรคเพื่อไทย” ไม่ใช่เพราะประชาธิปัตย์ กับ เพื่อไทย เคยเป็นคู่ขัดแย้งกันมาในอดีต ซึ่งในการเลือกตั้ง ปี2566 ที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ ได้สส.เพียงแค่ 25 คน บ่งบอกอะไรหลายๆอย่างว่า ประชาชนไม่ได้ให้ความไว้วางใจไปทำหน้าที่ในสภาฯ
แต่ก็ยังมีประชาชนอีกกว่า 9แสนเสียง ที่ยังให้ความเชื่อใจ ไว้วางใจ และให้โอกาส โดยนระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยประชาชนบางส่วนคงไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ หากไปดูตอนโหวตเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี บรรดา สส.ประชาธิปัตย์ 16 คน ไปโหวตให้นายเศรษฐา ไปกลับมติ ทั้งที่ตอนนั้น พรรคเพื่อไทยไม่ได้เทียบเชิญให้ไปร่วมรัฐบาล
นั่นคือความพยายามทอดไมตรี ส่งสัญญาณไปให้พรรคเพื่อไทยว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ปรับครม. เลยอยากจะสานสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่?
พรรคประชาธิปัตย์ ถูกมองเป็น อะไหล่ให้รัฐบาล การลงมติพรบ.งบประมาณ2567 เดิมพรรคประชาธิปัตย์ มีมติไม่เห็นด้วย แต่ สส.กลุ่มเดิม ไม่เข้าร่วมโหวตเลย ก็ถือเป็นการทอดไมตรีกับ พรรคเพื่อไทย ใช่หรือไม่?
แม้กรรมการบริหารพรรค สส.มีมติเข้าร่วมรัฐบาลไปแล้ว แต่ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า จะได้ 2ตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล เท่ากับมีการดีลร่วมรัฐบาลกันตลอดใช่หรือไม่ ถ้าไม่มีดีลจะทราบได้อย่างไร ?? ส่งรายชื่อให้สำนักเลขาฯคณะรัฐมนตรีไปตรวจสอบคุณสมบัติได้อย่างไร
ยังเชื่อว่าพรรคจะเรียกศรัทธากลับมาได้
มาดามเดียร์ เผยต่ออีกว่า ยังเชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ยังสามารถฟื้นศรัทธาประชาชนได้ เพียงแค่ทำตามอุดมการณ์พรรค 10 ข้อ ตามที่ผู้ก่อตั้งพรรค แม้จะผ่านมา 78 ปี แต่อุดมการณ์ดังกล่าว จะยึดมั่นในเสรีประชาธิปไตย ต่อสู้กับเผด็จการ ส่งเสริมการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง ไม่ผูกขาด แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในวันนี้ยังทันสมัย
ยอมรับคิดหนัก ตัดสินใจอยู่ต่อกับพรรค ปชป.ต่อไปหรือไม่?
นางสาว วทันยา บุนนาค กล่าวใสเรื่องนี้ว่า ก็คิดหนัก เมื่อมาพิจารณา สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์ เป็นเพียงแค่คนกลุ่มๆหนึ่ง ที่มีอำนาจบริหาร แต่จะไปเหมารวมประชาธิปัตย์ทั้งหมดไม่ได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับ ผู้บริหารชุดนี้ เพียงแต่กลไกเขาอาจไม่มีสิทธิ มีเสียงในการโหวตตัดสินว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่
ดังนั้น ตนจึงตัดสินใจทำงานอยู่กับพรรคต่อไป เพื่อรอวันหนึ่งในการฟื้นฟูศรัทธาจากประชาชนตามแนวอุดมการณ์พรรค ภายใต้การนำของคณะผู้บริหารพรรคชุดถัดไป