กล้วยน้ำว้า

กาญจนบุรีเตือน 4 อำเภอ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก 3-9 ก.ย.นี้

วันนี้ 2 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี/ผู้อำนวยการจังหวัด กล่าวแจ้งเตือนชาวกาญจนบุรีว่า เนื่องด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางแจ้งว่า ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสียง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (156/2567) ลงวันที่ 1 กันยายน เวลา 17.00 น.

แจ้งว่าในช่วงวันที่ 3-7 กันยายน 2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2567 โดยจังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป้าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2567 ได้แก่ อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค และอำเภอศรีสวัสดิ์

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาล กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส่วนตำบล และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีพื้นที่ที่มีฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ พร้อมทั้งประสานการปฏิบัติกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น ทหาร ตำรวจ หน่วยงานชลประทาน สถาบันการศึกษา มูลนิธิ อาลาสมัคร ฯลฯ เตรียมความพร้อมกำลังพล วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร และยานพาหนะ ให้พร้อมปฏิบัติงานอำนวยความสะดวก

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะ น้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใคเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง

2.ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมในการออกปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย เช่น การกำจัดวัชพืช ขยะตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำในแหล่งน้ำ การเร่งระบายน้ำ การเปิดทางน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม การระบายน้ำ ส่งน้ำไปกักเก็บในแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อย โดยประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้ง ตรวจสอบความมั่นคง เรือแพ โป๊ะเรือ ท่าเทียบเรือและจุดเสี่ยงพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ถ้าไม่มีความมั่นคงแข็งแรง พิจารณาแล้วเป็นอันตรายให้แก้ไขโดยด่วน รวมทั้งให้ใช้ประโยชน์จาก “มิสเตอร์เตือนภัย” ที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านเสี่ยงภัยแจ้งข้อมูลสถานการณ์ภัย ที่เกิดขึ้น


3.ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเเทาสาธารณภัยทุกระดับ และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดขอบการก่อสร้าง บำรุงรักษาถนน ในการตรวจสอบปรับปรุง กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการระบายน้ำในช่วงฝนตกหนักพร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร ติดตั้งป้าย/สัญญาณจราจรแจ้งเตือนประชาชนใช้ความระมัดระวัง หรือหลีกเลียงเส้นทางดังกล่าวให้ชัดเจน

หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้ถือปฏิบัติตามข้อสั่งการตามหนังสือกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ด่วนที่สุด ที่ กจ (กอปภ.จ.) 0021/ว 194 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2567 และสามารถแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 1784 หรือแจ้งผ่านไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784 โดยดำเนินการเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDDPM ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนภาครัฐให้รายงานการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ทราบทันทีที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-3451-5998 โทรสาร 0-3451-6795 เพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป

ทีมข่าวสยามนิวส์ จังหวัดกาญจนบุรี รายงาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *