ปลูกให้หวานละมุดเกษตร

“ละมุด” ปลูกให้หวานและรสอร่อยที่สุด ต้องปลูกยังไงและรอผลผลิตในช่วงเดือนไหน!!!

หากใครชื่นชอบผลไม้ไทยพื้นบ้าน อย่างเช่น “ละมุด” อยากชวนไปชมและชิม “ละมุด สุดหวาน” ด้วยกัน ที่ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ละมุดของที่นี่ได้รับการยกย่องว่า มีรสชาติอร่อยเลิศ จนได้การันตีจากหน่วยงานภาครัฐให้เป็นสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของอำเภอสวรรคโลกกันเลยทีเดียว

สำหรับพื้นที่ 9 อำเภอ ของจังหวัดสุโขทัย พบว่า อำเภอสวรรคโลก เป็นแหล่งที่ปลูกละมุดมากที่สุด รองลงมาคือ อำเภอศรีสำโรง ปี 2548/2550 ทั้งจังหวัดมีพื้นที่ปลูกละมุด 6,536 ไร่ แต่เนื้อที่สวนละมุดของจังหวัดสุโขทัยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก โดยปี 2554/2555 ทั้งจังหวัดเหลือพื้นที่ปลูกละมุดแค่ 4,914 ไร่ เท่านั้น

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย กรมวิชาการเกษตร (อ้างอิง แนวทางการวิจัยและพัฒนาพืช จังหวัดสุโขทัย ปี 2556-2558) ระบุว่า ละมุด จังหวัดสุโขทัย มีผลผลิตเฉลี่ย 1,357 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตรวม 7,840 ตัน คิดเป็นมูลค่า 51.98 ล้านบาท พันธุ์ละมุดที่ใช้เพาะปลูก ได้แก่ พันธุ์มะกอก พันธุ์ตาขวัญ และพันธุ์ไข่ห่าน เกษตรกรส่วนใหญ่จะขายผลผลิตให้กับพ่อค้าท้องถิ่น โดยจะมีพ่อค้าไปรับซื้อที่สวนของเกษตรกร จากนั้นจะรวบรวมผลผลิตไปขายในตลาดต่างจังหวัด และมีเกษตรกรบางส่วนที่นำสินค้าไปจำหน่ายเองโดยตรง


ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย ประเมินว่า ละมุด และกล้วยตานี เป็นพืชที่มีศักยภาพสำหรับปลูกในจังหวัดสุโขทัย เพราะทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขังเป็นเวลา 1-2 เดือน ที่เกิดขึ้นทุกปีได้ จึงเหมาะที่จะพัฒนาเป็นสินค้าประจำถิ่น เพื่อยื่นจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกับวัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ต้องเร่งวิจัยปรับปรุงพันธุ์ละมุดให้มีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาดและมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) โดยมุ่งพัฒนาให้ละมุดมีผลผลิตสูง ขนาดผลใหญ่และดก หวาน กรอบ เมื่อสุกไม่เละ ผิวเปลือกผลสีน้ำตาลแดงเข้มโดยไม่ต้องย้อมสี
ตำบลท่าทอง

จากเส้นทางสวรรคโลก-วัดเกาะ ผ่านตำบลย่านยาว ตำบลคลองกระจง ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร ก็เดินทางถึงตำบลท่าทอง พื้นที่แห่งนี้อยู่ห่างจากตัวอำเภอสวรรคโลก ประมาณ 13 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัด 24 กิโลเมตร ตำบลท่าทอง มีเนื้อที่ ประมาณ 12,913 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและมีแม่น้ำยมไหลผ่าน เป็นแนวกั้นตำบลท่าทองและเมืองบางยม ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลท่าทอง มีอาชีพหลัก ทำสวน ทำไร่ รับจ้าง รับราชการ สาเหตุที่ท้องถิ่นแห่งนี้ได้รับการเรียกขานว่า “ตำบลท่าทอง” เนื่องจากมีต้นทองขึ้นอยู่ริมฝั่ง ผู้คนได้ใช้บริเวณ “ต้นทอง” เป็นที่สำหรับลงไปเอาน้ำขึ้นมาใช้ และเป็น “ท่า” ที่ขึ้นลงของคนฝั่งตรงกันข้าม จึงเรียกรวมกันว่า “ท่าทอง” มาจนถึงปัจจุบัน
ท่าทอง…ดินแดนละมุดหวาน

“ละมุด” นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวบ้านท่าทองมาตั้งแต่สมัยอดีต สังเกตได้จากคำขวัญประจำตำบลท่าทอง ที่กล่าวไว้ว่า “ถิ่นละมุดสุดหวาน วัดโบราณกุดยายชี หมู่บ้านดีหนองชุมแสง แหล่งแสดงเศรษฐกิจพอเพียง สดับเสียงธรรมะ สักการะพระบรมธาตุ เทศน์มหาชาติ วัดหนองป่าตอ”

“ละมุดท่าทอง” มีจุดเด่นในเรื่องมีรสชาติหวานอร่อย ทุกๆ ปี เกษตรกรจะนำละมุดท่าทองไปตระเวนจำหน่ายภายในจังหวัด เช่น งานประจำปีของวัดหนองโว้ง ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ฯลฯ ทำให้ละมุดท่าทอง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในท้องถิ่นและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น งานสมโภชพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น เกษตรกรนอกจากจำหน่ายละมุดผลสดแล้ว ยังจำหน่ายกิ่งตอนพันธุ์ดีให้ผู้สนใจนำไปปลูกได้อีก สถานการณ์ตลาดละมุดโดยรวมในปีนี้ ถือว่าดีกว่าปีก่อน เนื่องจากมีผลผลิตเข้าตลาดน้อย ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี ราคาขายปลีก ตั้งแต่ ราคา 20-60 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดเป็นหลัก
การปลูกดูแล

ในอดีต ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลท่าทองก็ทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก ต่อมามีเกษตรกรบางรายหันมาปลูกละมุด แล้วได้ผลผลิตที่ดี ต่อมาวัดหนองโว้ง ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก ได้จัดประกวดผลผลิตละมุดเป็นประจำทุกปี ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวหันมาปลูกละมุดกันมากขึ้น โดยเฉพาะละมุดพันธุ์มะกอก ที่มีลักษณะเด่นคือ ผลรูปร่างกลมใหญ่ ผลสุกมีสีน้ำตาลออกแดง รสหวาน เนื้อผลแข็งและกรอบ แต่ผลผลิตไม่ค่อยดกสักเท่าไหร่

ละมุด สามารถปลูกได้ทั่วไป การปลูกละมุดนั้นไม่ยุ่งยากเลย รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เอากิ่งตอนปลูกในระยะห่าง ประมาณ 4 วา ปลูกเฉลี่ยได้ ไร่ละ 40 ต้น คอยดูแลให้น้ำสม่ำเสมอ ต้นละมุดจะออกดอกครั้งแรกเมื่อต้นอายุ 3 ปี หลังจากนั้นก็เก็บผลผลิตออกขายได้ เฉลี่ยปีละ 6 เดือน
ละมุด ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงจนถึง 20 เมตร เส้นรอบวงของลำต้น 105 เมตร กิ่งก้านเหนียว แข็งแรง ใบรูปหอก สีเขียว ขอบใบพลิ้ว ภายในสวนละมุดอายุ 44 ปี แห่งนี้ บรรยากาศร่มรื่นสวยงาม เพราะตายายเจ้าของสวนแห่งนี้ทำงานขยันขันแข็ง ใช้เวลาว่างดูแลตัดหญ้าและตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ต้นละมุดออกดอกติดผลตลอดทั้งปี สำหรับปีนี้ โชคดีหน่อย ราคาขายต่ำสุดหน้าสวน ที่ชาวสวนขายได้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 4 บาท และช่วงต้นปีนี้ ผลผลิตส้มไม่ค่อยดี ทำให้ชาวสวนขายส่งหน้าสวนได้ราคาดี ถึงกิโลกรัมละ 12 บาท

ชาวสวนมืออาชีพวิเคราะห์สถานการณ์ราคาละมุดให้ฟังว่า ราคาละมุดในท้องตลาดทั่วไปนั้น จะไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณของละมุดในท้องตลาดมากนัก แต่ขึ้นอยู่กับว่า ช่วงเวลาที่ละมุดออกสู่ตลาดนั้น เป็นช่วงที่มีผลไม้อื่นเข้าสู่ตลาดหรือไม่ เพราะผลไม้ชนิดอื่นจะเป็นปัจจัยทำให้ราคาละมุดสูงหรือตกต่ำลงได้ ทางออกของชาวสวนละมุดหลายรายในวันนี้คือ ปลูกกล้วยหอม ไม้ผลอื่นๆ และนำเศษไม้ในสวนมาเผาถ่านและทำน้ำส้มควันไม้ขาย เพื่อเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว
ก่อนจากกัน ได้รับคำแนะนำว่า หากใครต้องการชิมละมุดรสอร่อยที่สุด ต้องรอผลผลิตในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพราะละมุดพันธุ์มะกอกรุ่นนี้จะมีรสหวานจัด หอม ผลสีแดง และเนื้อกรอบ น่าจะถูกใจผู้บริโภควัยหนุ่มสาวและวัยรุ่นทั่วไป หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำสวนละมุด ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โทร. (055) 643-031

ที่มา : matichon

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *