การบำรุงดิน

คนไทยเตรียมตัวเผชิญ ลานีญา ยาวต่อเนื่องถึง ม.ค.68 ฝนเพิ่มขึ้น-อุณหภูมิลดลง

คนไทยเตรียมตัวเผชิญ ลานีญา ยาวต่อเนื่องถึง ม.ค.68 ฝนเพิ่มขึ้น-อุณหภูมิลดลง

วันที่ 27 พ.ค.2567 นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตลอดช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยความปราณีตและรัดกุม ประกอบกับได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรและประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด

เปิดรูปภาพ


จึงทำให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเพียงพอ ต่อจากนี้จะเป็นการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 67 (1 พ.ค.-31 ต.ค.67) ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า

สภาวะเอลนีโญ ในขณะนี้อ่อนกำลังลงและเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะเป็นกลาง ในช่วงเดือนมิ.ย. โดยมีความน่าจะเป็นถึง 69% ที่จะเปลี่ยนสู่ สภาวะลานีญา

เปิดรูปภาพ

ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในเดือน ก.ค.-ก.ย. และจะคงสภาวะนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2567
จึงกำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง นำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการเก็บกัก

เปิดรูปภาพ

รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ภายในเดือน มิ.ย. นี้ กำหนดคน กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือและระบบสื่อสาร ประจำพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนได้มากที่สุด ด้าน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี66/67 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง

เปิดรูปภาพ

ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 – 30 เม.ย. 2567 ไว้ทั้งสิ้น 24,985 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 8,700 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ปัจจุบันสิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว พบว่า
ทั้งประเทศมีการใช้น้ำตลอดช่วงฤดูแล้งรวมทั้งสิ้นประมาณ 23,832 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 95% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำรวมประมาณ 8,586 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 99% ของแผนฯ ภาพรวมผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ พื้นที่ในเขตชลประทานไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ

เปิดรูปภาพ

อีกทั้งยังมีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนอย่างเพียงพอ โดย ณ วันที่ 1 พ.ค. 67 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 41,765 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกกว่า 34,572 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,256 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกกว่า 13,615 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ยังได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงฤดูแล้งหน้า ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำ รวมทั้งวางแผนป้องกันอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า

เปิดรูปภาพ


ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศในปีนี้ ไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าไม่ล่าช้าจนเกินไป เบื้องต้นคาดว่าปริมาณฝนในปี 2567 ภาพรวมจะอยู่ใกล้เคียงกับค่าปกติ หรือสูงกว่าเล็กน้อย โดยจะปริมาณฝนตั้งแต่เดือน พ.ค.- ต.ค. จะกระจายตัวดี

ยกเว้นช่วงเดือน มิ.ย.- ก.ค. ที่ร่องความกดอากาศต่ำจะไปทางจีนใต้ ส่งผลให้ฝนในประเทศไทยลดลงบ้างแต่ไม่รุนแรง และคาดว่าจะมีพายุเข้ามาในประเทศไทย 1-2 ลูก สำหรับสถานการณ์ปรากฎการณ์ธรรมชาติของไทย ในปัจจุบันเอลนีโญได้เข้าเกณฑ์ความเป็นกลางและมีแนวโน้มภาวะลานีญาเข้ามา คาดว่าจะอยู่จนถึงต้นปี 2568 อย่างไรก็ตามเนื่องจากปริมาณฝนในประเทศ มีอีกหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น

เปิดรูปภาพ

พายุหมุนเขตร้อน แนวร่องความกดอากาศต่ำ มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น ดังนั้นกรณีจะมีฝนมากหรือน้อยนั้น ทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะแจ้งเตือนอีกครั้ง โดยร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

เปิดรูปภาพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *