การบำรุงดิน

“พนักงานเก็บขยะ” เรื่องเล่าของการเดินทางขยะมูลฝอย

ชุมชนยั่งยืน” ครั้งนี้จะพาทุกคนมาติดตามเรื่องราวของพนักงานเก็บขยะ เรื่องราวนี้เป็นเรื่องของหยาดเหงื่อของพนักงานเก็บขยะ ซึ่งเรื่องนี้หากนำมาซึ่งความร่วมมือในการช่วย “เเยกขยะ” เเน่นอนว่าน่าจะช่วยลดภาระของพี่ๆพนักงาน เเละช่วยลดปัญหาสิ่งเเวดล้อมได้เป็นอย่างดี
Facebook กรุงเทพมหานคร ได้โพสบอกเล่าเรื่องราวของ “ภาคิน งามประเสริฐ” พนักงานเก็บขยะ สำนักงานเขตดุสิต หนึ่งในพนักงานเก็บขยะเเละเรื่องราวของขยะเศษอาหาร กับปลายทางที่หลายๆคนไม่เคยเห็น โดยระบุข้อความว่า… ในขณะที่เราทิ้งขยะเศษอาหารลงถัง หรือเวลาที่เราไปจ่ายตลาดแล้วเห็นพ่อค้า แม่ค้าคัดผักหรือผลไม้ที่ไม่สวยทิ้ง เคยสงสัยกันไหมว่า เศษอาหารเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน?

“ภาคิน งามประเสริฐ” พนักงานเก็บขยะ สำนักงานเขตดุสิต ผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานเก็บขยะเศษอาหารในกรุงเทพมหานคร
“ภาคิน งามประเสริฐ” พนักงานเก็บขยะ สำนักงานเขตดุสิต ผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานเก็บขยะเศษอาหารในกรุงเทพมหานคร

ขั้นตอนแรกของกระบวนการ

ช่วงเช้าของทุกวัน ภาคินและทีมงานเริ่มต้นภารกิจเก็บกวาดตลาดมหานาค พวกเขาออกเดินทางด้วยรถเก็บขยะ มุ่งหน้าสู่จุดทิ้งขยะที่เต็มไปด้วยขยะเศษอาหารจากร้านค้าและแผงขายของ “เมื่อมาถึงจุดรับขยะ จะเริ่มแยกขยะโดยแยกถุงพลาสติกออกจากเข่งผัก เพื่อที่จะเอาผักอย่างเดียว ไปทำปุ๋ยต่อไป

“พนักงานเก็บขยะ” เรื่องเล่าของการเดินทางขยะมูลฝอย

ไม่เทรวม ช่วยลดภาระให้พนักงานเก็บขยะ
“ไม่เทรวมนะครับ ขยะอินทรีย์จะถูกแยกออกจากขยะประเภทอื่น ๆ อย่างเด็ดขาด” ภาคินย้ำถึงจุดยืนของโครงการไม่เทรวม งานแยกขยะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนจัด พวกเขาต้องเผชิญกับความร้อนและกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง แต่ด้วยความทุ่มเทและความมุ่งมั่น พวกเขาทำงานอย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว แยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

“เหนื่อยนะครับ ยิ่งวันที่ร้อน ๆ เนี่ย ตับแตกเลย” ภาคินเล่าด้วยรอยยิ้ม

“พนักงานเก็บขยะ” เรื่องเล่าของการเดินทางขยะมูลฝอย

ปริมาณขยะที่มหาศาล สะท้อนภาพวิถีเมือง
ปริมาณขยะเศษอาหารที่พวกเขาต้องจัดการในแต่ละวัน “บางวันก็ 3 ตัน บางวันก็ 4 ตัน ครับ แล้วแต่วันเลย อย่างช่วงสงกรานต์ก็ไม่ได้หยุดนะ ขยะก็ราว ๆ นั้นเลย” ในแต่ละวัน 50% ของกองขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นขยะเศษอาหาร ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

“พนักงานเก็บขยะ” เรื่องเล่าของการเดินทางขยะมูลฝอย
ทำงานแข่งกับเวลา เพื่อความสะอาดของเมือง
“ต้องทำงานแข่งกับเวลาครับ เพราะรถเข้ามาในตลาดตลอด และถนนไปได้ทางเดียว เลยต้องแข่งกับเวลา” การทำงานส่วนใหญ่ราบรื่นเพราะพ่อค้า แม่ค้าในตลาดให้ความร่วมมืออย่างดีในการแยกขยะเศษอาหารเบื้องต้น

พวกเขาต้องทำงานอย่างรวดเร็ว เก็บขยะให้เสร็จภายใน 10 โมง เพื่อให้รถขนขยะประเภทอื่นคันต่อไปสามารถเข้ามาทำงานต่อได้ เพื่อไม่รบกวนพ่อค้า แม่ค้าในตลาด รวมถึงประชาชนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย

“พนักงานเก็บขยะ” เรื่องเล่าของการเดินทางขยะมูลฝอย

ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระ
จากการเก็บขยะ ปลายทางคือศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ที่นี่มีกระบวนการแปรรูปขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ ขยะเศษอาหารถูกเทลงบนกองใหญ่ พนักงานจะทำการคัดแยกอีกครั้ง เพื่อให้มีแต่ขยะเศษอาหารเท่านั้น ก่อนนำไปผสมกับวัสดุอื่น ๆ เช่น ใบไม้ เศษไม้ มูลสัตว์ ฯลฯ หมักจนได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการ

“พนักงานเก็บขยะ” เรื่องเล่าของการเดินทางขยะมูลฝอย

โครงการ “ไม่เทรวม” บทพิสูจน์ความสำเร็จ

โครงการ “ไม่เทรวม” พิสูจน์แล้วว่า กทม. แยกขยะจริง และการแยกขยะช่วยลดปริมาณขยะอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2566 ปริมาณขยะลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตันต่อวัน ส่งผลดีทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ดังนี้

ลดปริมาณขยะ 74,460 ตันต่อปี
ประหยัดค่าใช้จ่าย 141,474,000 บาทต่อปี
ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะ 387,600 บาทต่อวัน
ความสำเร็จนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่แยกขยะก่อนทิ้ง ส่งผลดีต่อระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร ร่วมสร้างเมืองหลวงให้สะอาด ประชาชนสามารถเริ่มแยกขยะง่าย ๆ เพียงใส่ถุงแยกประเภท หรือใส่ถุงดำพร้อมเขียนข้อความระบุประเภทขยะ ดังนี้

ขยะเศษอาหาร: เศษผักผลไม้ เศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์
ขยะทั่วไป: ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร ซองบะหมี่ ถุงขนม กล่องโฟม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
ขยะอันตราย: หลอดไฟ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ยาหมดอายุ กระป๋องสเปรย์ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ
ขยะรีไซเคิล: กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ
จากเรื่องราวของ “ภาคิน งามประเสริฐ” พนักงานเก็บขยะ สำนักงานเขตดุสิต เเสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของพนักงานเก็บขยะทุกคนเป็นอย่างมาก รู้เช่นนี้เเล้วหากเราทุกคนมีส่วนช่วยเเบ่งเบาภาระของพวกเขา อยากให้ทุกคนได้ช่วยกัน เพียงเเค่เเยกขยะก่อนทิ้ง เสียเวลาเพียงเล็กน้อย เเต่หากทุกคนร่วมกันจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่นอกจากจะช่วยพนักงานเก็บขยะเเล้ว ยังเป็นการช่วยโลกทางด้านของสิ่งเเวดล้อมอีกด้วย

ของคุณภาพเเละข้อมูล : Facebook กรุงเทพมหานคร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *